ใครควรลาออก

เมื่อคณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีนิติราษฎร์ที่สอดคล้องกับวันครบรอบ 5 ปีแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อันประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ

(1) การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

(2) การแก้ไชเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

(3) กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

และ (4) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ปรากฎว่า…ได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการพลิกหลักคิดทางกฎหมายของไทยครั้งสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล

แทนหลักคิดคร่ำครึแบบเก่าที่ว่า…

เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐสำเร็จย่อมเป็น “รัฐถาธิปัตย์” แบบเดียวกับอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ไปเป็นหลักคิดที่ว่า…

คณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย จะต้องถูกลงโทษและผลพวงทั้งหมดที่กระทำและเกิดตามมาจะต้องเป็นการสูญเปล่า

อันเป็นหลักคิดแบบเดียวกับการลบล้างคำสั่งศาลนาซีหลังสงครามโลกครั้งที่สอ งและหลักคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศส ตุรกีและประเทศอื่นๆ

ในขณะที่ได้รับการต้อนรับและสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ก็มีเสียงตอบกลับด้วยความโกรธเกรี้ยวจากบางฝ่าย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกที่บอกว่า…

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะทำให้เกิดความแตกแยก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ก็กล่าวหาว่า…

มันเป็นข้อเสนอเพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้รับการนิรโทษกรรมและเห็นว่า คณะนิติราษฎร์ควรลาออกจากการเป็นนักวิชาการไปเป็นนักการเมือง

มีคนเปรียบเทียบว่า…ปฏิกิริยาดังกล่าว เป็นอาการเต้นเร่าๆ แบบเดียวกับแผลสดถูกราดด้วยน้ำเกลือ

คณะนิติราษฎร์ได้ตอบกลับผู้บัญชาการทหารบกว่า…ข้อเสนอของพวกตนเป็นการเคลื่อนไหวทางความคิดตามแนวทางประชาธิปไตย

เพราะทุกอย่างจะย้อนไปให้ประชาชนตัดสิน และว่าการใช้กำลังทำรัฐประหารเสียอีกที่ทำให้บ้านเมืองมันแตกแยก

สำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น คณะนิติราษฎร์ตอบกลับว่า…ไม่เข้าใจว่าทำไมคนในพรรคประชาธิปัตย์ถึงเดือด ร้อนกันมากในเรื่องนี้

ตามคำพูดนี้หมายความว่า…คณะนิติราษฎร์สงสัยว่า ทำไมนายอภิสิทธิ์และพลพรรคประชาธิปัตย์จึงพากันเดือดร้อนที่คณะรัฐประหารจะถูกลงโทษ

ทำไมจึงเดือดร้อนที่อำนาจเผด็จการจะถูกทำให้เป็นโมฆะ และทำไมจึงเดือดร้อนที่รัฐธรรมนูญเผด็จการ 2550 จะถูกยกเลิกไป

ในประเด็นที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ลาอออกจากการเป็นนักวิชาการนั้น

อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า…พวกตนไม่ได้ต้องการเป็นนักการเมือง ต้องการเป็นนักวิชาการ

ถ้าจะให้ลาออกกันแล้ว เห็นว่าผู้ที่ควรลาออกคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรลาออกจากการเป็นนักการเมือง

ประเด็นที่ว่า…ใครควรลาออกนี้ จะพิจารณาตัดสินได้จากหลักการที่ว่า นักการเมืองและนักวิชาการนั้น ควรสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการ

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยืนอยู่ตรงไหน…และนายอภิสิทธิ์มีจุดยืนอยู่ตรงไหน

ซึ่งจะสามารถสรุปว่า…คนเรายิ่งนั้นยิ่งพูดยิ่งแสดงออก มันก็ยิ่งทำให้คนเห็นธาตุแท้ว่าเป็นประการใด

เป็นขี้ตะกั่วหรือทองคำแท้

Leave a comment

Filed under หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

Leave a comment